Barbie บาร์บี้ (2023): หรือเธอเห็นฉันน่ะเป็นตุ๊กตาบาร์บี้
- PIYANAT LAMOR
- Aug 15, 2023
- 1 min read

คิดว่าทุกคนน่าจะเคยได้ยินคำว่า‘อย่าเห็นผู้หญิงเป็นของเล่น’กัน ตอนเด็กๆที่ได้ยินคำนี้ก็คิดว่าใครมันจะทำวะ ยิ่งผู้ชายยิ่งแล้วใหญ่เพราะแทบไม่เคยเห็นผู้ชายที่ไหนเล่นบาร์บี้หรือแม้แต่เคน (อ่อ กูเอง เล่นบาร์บี้ปลอมตัวละ99ของพี่สาว และความตลกคือก็เล่นเปิดกระโปรงเปลี่ยนเสื้อผ้าตามประสาเด็ก นี่ไง) ที่คิดแบบนั้นเพราะแต่ไหนแต่เรามาแล้วเราถูกแบ่งแยกกันด้วยอคติทางเพศ ผู้ชายสีฟ้า ผู้หญิงสีชมพู ถ้าอยากเล่นขบวนการห้าสีผู้หญิงมีตำแหน่งแห่งที่แค่ตัวสีชมพูเท่านั้น ในขณะที่ผู้ชายสามารถเป็นได้สารพัดสี แต่ในโลกของบาร์บี้ เธอเข้ามาเพื่อบอกว่า ผู้หญิงจะเป็นอะไรก็ได้ตามใจอยาก เป็นได้มากกว่าตัวสีแดงในขบวนการห้าสีเสียอีก
แต่พอโลกวิวัฒน์ผันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ก็เกิดการตั้งคำถามถึงการมีอยู่ว่าบาร์บี้ที่แสนสมบูรณ์แบบนั้น จากที่เป็นการ encourage กับกลายเป็นมาตรฐานอันสูงลิบทั้งด้านความงามและมาตรฐานอื่นๆของผู้หญิง นี่ยังไม่นับรวมกับการที่บาร์บี้ถูกใช้เป็นภาพแทนสำหรับลดค่าเหล่าสตรีเพศอีก ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงถือเป็นก้าวสำคัญของบริษัทแม่อย่าง Mattel ว่าจะมูฟอย่างไร ซึ่งถือว่าตัดสินใจได้ดีมากๆ ที่ยอมรับ และทุบตัวเองให้แตกแล้วประกอบสร้างขึ้นมาใหม่ไปพร้อมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง ด้วยคำถามสำคัญที่เป็นดั่งหัวใจของหนัง
What I was made for?
เรื่องราวของบาร์บี้รุ่นพิมพ์นิยมที่อยู่มาช้านานในแดนสุขสันต์อย่าง Barbieland พร้อมเหล่าเพื่อนสาวบาร์บี้เป็นขโยง เคนอีกหนึ่งขโยง (แถมอัลลันกับมิดจ์อย่างละ1เพราะเลิกผลิตแล้ว) อยู่ๆตุ๊กตาสาวก็ดันมีเซลลูไลท์ คิดถึงความตาย จึงต้องออกตามหาต้นตอด้วยการไปโลกความจริงกับเคน(ที่แอบตามไป) เพื่อจะกลับมาเป็นบาร์บี้รุ่นพิมพ์นิยมตามเดิม(?)
ดูคร่าวๆตัวหนังก็ชวนหัวและไม่รู้ว่าจะเล่นกับอะไร(ตั้งแต่ตอนโปรเจ็คนี้ถูกประกาศ) แต่ความจริงแล้วตัวหนังมีความคล้ายกับเฟรนไชส์ของเล่นเช่นเดียวกันกับ The Lego movie แต่บาร์บี้จับจุดอ่อนของคนรุ่นใหม่ได้ตรงกว่าอย่างเรื่อง existential crisis ที่เป็นประเด็นหลักของเรื่อง ผสานด้วยประเด็นทางสังคมอย่างปิตาธิปไตย เฟมมินิสม์ หรือคุณค่าแห่งการมีชีวิต ซึ่งพอประเด็นมันหลากหลายเลยเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องสับมันเพื่อให้เข้ากับฟอร์มหนังที่ย่อยง่ายแบบที่เรียกได้ว่าป้อนให้กลืนกันง่ายๆเลย ถ้าในแง่ความกลืนง่ายมันก็คงจะต่างกรรมต่างวาระตามเพศและประสบการณ์ของแต่ละคนกันไป แต่สิ่งที่ควรพูดคือด้วยท่าทีย่อยง่ายแบบนี้ มันยังมีความทื่อหรือไม่กลมกล่อมจากการพึ่งพิงฟอร์มหนังสดใสแล้วเคี่ยวได้ไม่เข้าที่ดี(ถ้าพูดในแง่ที่เทียบกับ The Lego movie ที่ทำได้เรียบเป็นเนื้อเดียวกันกว่า) แต่ไม่ได้เป็นข้อเสียมากเท่ากับการแปลซับไทยของนักแปลเจ้าดัง เพราะนั่นทำให้คอนเท็กซ์ของหนังถูกเปลี่ยนแปลงไป นอกนั้นแล้วไม่ได้มีปัญหาอะไรกับตัวหนังขนาดนั้น

จากผลงานภาพยนตร์ที่ออกมา สามารถชมได้เต็มปากว่าเกรต้า เกอร์วิกเก่งมากที่เลือกใช้ช้อยส์ของฟอร์มหนังที่ถ้าไม่แน่จริงก็เละเลอะเทอะเอาง่ายๆ โดยรวมพอถอดความไฮป์ออกแล้ว ถีงแม้จะขลุกขลักก็ออกมาสวยงามด้วยประเด็นทั้งปวง จะเสียดายอีกข้อแค่ว่า หากหนังมีสกอร์ดีๆมาเสริม ไม่ใช่ใช้แค่เพลงประกอบ คงจะงดงามมากๆ
แอบบ่นนิดหน่อยว่าพอคนมุ่งประเด็นที่มีคนไม่ชอบหรือใดๆแล้วกลายเป็นสงครามปากระหว่างเพศก็ออกจะน่าเสียดาย เพราะนอกจากจะกลายเป็นหลงคิดว่าประเด็นความเท่าเทียมทางเพศที่ถูกใส่มาในหนังคือใจความหลัก กลับหยิบมันมาใช้เป็นเครื่องมือทำร้ายจนเหมือนลืมท่อนที่หนังส่งเสริมไม่ให้ทิ้งใครข้างหลังเสียอย่างนั้น แต่ช่วยไม่ได้ ก็มันสะใจนี่
หลังจากนี้อยากเห็นหนังผู้หญิงแบบนี้มากขึ้นนะ มันสวยงามมากๆสำหรับเรา พูดก็พูดคือร้องไห้ออกจากโรงเพราะดูหนังแล้วมันสะท้อนใจมากๆเรื่องเราคือใคร มันซึมแต่ก็รู้สึกอยากมีชีวิตดูอะไรดีๆแบบนี้ต่อไปอีกสักหน่อย

Comments