Oppenheimer โอพเพ่นไฮม์เมอร์ (2023): ระเบิดเวลา อ๊าาา เริ่มต้นมาเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่
- PIYANAT LAMOR
- Aug 15, 2023
- 1 min read
Oppenheimer (Christopher Nolan/2023)
'Now I Am Become Death, the Destroyer of Worlds.'
ในฐานะที่เป็นประชาชนชาวไทยที่จบการศึกษาขั้นพื้นฐานขั้นบังคับ รวมถึงระดับอุดมศึกษาภาควิชาภาพยนตร์ ซึ่งแน่นอนว่ามีการพูดถึงนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังอย่าง โรเบิร์ต เจ. โอพเพ่นไฮม์เมอร์อยู่เป็นจำนวนถึง 0 ครั้ง รวมถึงนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆในเรื่องด้วย (จะกล่าวถึงก็แต่พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ของไทย ซึ่งไม่ปรากฏในเรื่อง) จึงบอกได้เลยว่าข้อมูลพื้นฐานการดูหนังเรื่องนี้เท่ากับเกือบจะศูนย์ อย่างน้อยก็สามารถตื่นตาดีใจได้อย่างภาคภูมิว่ารู้จักไอน์สไตน์ที่โผล่ในเรื่องด้วย มิหนำซ้ำยังนึกไปอีกว่าประโยคข้างต้นเป็นบทที่เขียนขึ้นมาแบบเท่ๆเบียวๆ แต่อ้าว เจ้าตัวพูดจริงว่ะ
ฉะนั้นด้วยดีกรีการจบสายศิลป์มาแล้วนั้น เชื่อมั่นได้เลยว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่มีเท่าหางอึ่งคงเป็นอุปสรรคในการรับชมแน่ๆ แต่ไม่เลย

คริสโตเฟอร์ โนแลนเลือกนำเสนอแง่มุมของนักวิทยาศาสตร์ในทางของการเมือง ชีวิต และจิตวิทยา แบบที่เรียกว่าไม่จำเป็นต้องจบวิทยาศาสตร์โอลิมปิกสักนิด หรือแม้จะไม่ชอบวิทย์ก็เอ็นจอยได้ เพราะนี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับมนุษย์ทั้งโดยปัจเจกและระดับโลก เราไม่จำเป็นต้องเข้าใจเพราะสิ่งที่โนแลนเล่าคือเรื่องราวของคนสร้าง ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ เคยมีคนบอกว่าหนังโนแลนเข้าใจยาก แต่บางครั้งการดูหนังโนแลนแบบไม่เข้าใจอะไรเลยกลับสนุกอย่างประหลาด(แต่อื่นใดคือนี่เป็นหนังที่เข้าใจง่ายสุดๆเรื่องหนึ่งของเขาเลย) การใช้ชั้นเชิงวิธีเล่าที่ค่อยๆให้ข้อมูลกับเราแล้วตลบหลังสร้างความน่าตื่นเต้นให้ติดตามเรื่อยๆ เป็นหนังที่จะบอกว่าหาข้อติยากก็คงจะดูอวยกันไป แต่ก็ไม่เกินจริง
สิ่งที่น่าเสียดายไม่น้อยคือ ในขณะที่เขาบรรจงทุ่มเทความละเอียดละออกับทุกสิ่ง แม้แต่การเล่าเรื่องบิดาแห่งระเบิดปรามณูให้ไม่ได้ไปในทางเชิดชูเพียงอย่างเดียวแต่เป็นการจับแผ่กางให้มองเห็นมิติหลากหลาย แต่การเขียนตัวละครฝ่ายหญิงในหนังเรื่องนี้กลับไม่ได้ละเอียดละออและดีเท่าที่ควรนัก พูดตามตรง2ตัวละครหญิงในเรื่องอย่างจีน แทตล็อค(ฟลอเรนซ์ พิวจ์) และคิตตี้ โอพเพ่นไฮม์เมอร์(เอมิลี่ บลันท์)ที่เป็นตัวละครสำคัญที่ส่งผลกับตัวเอกอย่างโอพเพ่นไฮม์เมอร์ ถูกเขียนมาอย่างเป็นระนาบเดียว ไม่ค่อยเห็นอิทธิพล มุมลึกในด้านต่างๆมากเท่าตัวละครสมทบชายตัวอื่น เธอทั้งคู่ถูกใส่มาเพื่อประกอบให้สมบูรณ์ไม่ได้มากและไม่ได้น้อยไปกว่านั้น ทั้งที่เป็น2ตัวละครสำคัญที่หากเขียนมามีมิติกว่านี้ จะยิ่งช่วยส่งเสริมมิติของตัวละครหลักขึ้นไปอีก แต่เท่านี้นักแสดงทั้งสองคนก็ทำได้เต็มที่กับบทบาทที่ได้รับแล้ว ซึ่งจุดนี้เป็นที่เห็นได้กับตัวละครหญิงในแทบทุกเรื่องของโนแลนเลย

ไม่บ่อยนักที่เราดูหนังโนแลนแล้วอยากกลับไปดูอีกเป็นครั้งที่2/3/4 (ไม่นับเพราะว่าดูไม่รู้เรื่อง) แต่โอพเพ่นไฮม์เมอร์ได้สร้างปฏิกิริยาลูกโซ่ที่ระเบิดขึ้นในใจ ทำให้เราอยากดูอีกหลายๆรอบ รอบเดียวมันไม่อิ่ม มันยังต้องการเข้าไปเก็บตักตวงสิ่งที่ตกหล่นไป(ที่ถึงแม้จะไม่จำเป็นก็ได้ แต่ใจมันร้องอยาก) นอกจากนี้ ปฏิกิริยาลูกโซ่ก็ได้ทำการสั่นสะเทือนไปถึงคนดูและวงการภาพยนตร์อีกเช่นกัน ทั้งจากการผนวกคู่เข้ากับบาร์บี้(เกรต้า เกอร์วิก/2023)ที่ฉายเข้าคู่ชนกันอย่างตั้งใจโดยสตูดิโอ ที่มีความเชื่อมโยงอย่างประหลาด ถ้าพูดถึงโลกที่เปลี่ยนไปเมื่อมีสิ่งหนึ่งได้ระเบิดขึ้นมา ในทางโอพเพ่นไฮม์เมอร์คือสิ่งที่เกิดกับนางาซากิและฮิโรชิม่า ส่วนทางบาร์บี้คือการอุบัติขึ้นของไอเดียปิตาธิปไตยในโลกสมมุติ และการถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นทางเพศที่ร้อนระอุและลุกลามเป็นลูกโซ่เสียยิ่งกว่าระเบิดด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่จะเปลี่ยนไปจากการระเบิดในครั้งนี้ของหนังทั้งคู่ คือการที่สตูฯและอุตสาหกรรมคงได้รับรู้ว่า ไม่จำเป็นต้องทำหนังฮีโร่เฟรนไชส์ธีมปาร์คอีกต่อไปที่จะได้เงินคนดู แต่ถ้าคุณทำได้คราฟท์และน่าสนใจพอ ยุคใหม่ของภาพยนตร์จะเปลี่ยนไป คนดูพร้อมดูทุกอย่างเพียงแค่มีพื้นที่ให้มันอย่างเท่าเทียม และต่อจากนี้คงมีพื้นที่ให้คนทำหนังเพศอื่นๆมากขึ้นในวงสังคม
ซึ่งหวังว่าจะเกิดขึ้นกับวงการและคนดูหนังของไทยทั่วไปบ้าง เพื่อให้หนังไทยหลายๆเรื่องที่ดีและตกหล่นไปได้มีพื้นที่ เปิดการรับรู้ว่าภาพยนตร์มีอีกมากมาย และเลิกดูถูกหนังไทยเสียที เพราะหากไม่เปิดใจ ไม่มีพื้นที่ให้ ระเบิดปรมาณูลูกใหญ่คงจะกวาดล้างคนทำหนังไทยไปในอีกไม่นาน

コメント